นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภาย หลังเป็นประธานเการประชุมเชิงปฎิบัติการ ในหัวข้อ “ประสิทธิภาพด้านการบริการรถสาธารณะกับความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ” ในโครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น และมีตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่เมืองภูเก็ต ป่าตอง กมลา หาดสุรินทร์ และกะตะกะรน เข้าร่วมประมาณ 150 คน ว่า
ในการให้บริการของรถบริการสาธารณะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และที่ผ่านมาจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักจะได้รับการร้องเรียนเรื่องการเอารัดเอาเปรียบจากนักท่องเที่ยวแบ่งครั้ง แม้ว่าผู้มีพฤติกรรมดังกล่าวจะมีเพียงส่วนน้อย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมหาศาลโดยเฉพาะชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย
“เพราะฉะนั้นอยากฝากให้ผู้ประกอบการรถสาธารณะ อย่าเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้เป็นเวลานาน และอยากให้คนส่วนใหญ่ช่วยกันควบคุมดูแลไม่ให้คนเพียงส่วนน้อยก่อเหตุเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และกำกับดูแลให้มาอยู่ในกรอบกติกาที่กำหนดซึ่งจะก่อไม่ให้เกิดความเสียหายในภาพรวมได้ แต่ถ้าปล่อยให้คนที่มีอยู่เพียงส่วนน้อยเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวก็เปรียบเหมือนการทุบหม้อข้าวตัวเองซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวมทั้งหมด”นายวิชัย กล่าวและว่า
รวมทั้งขอร้องด้วยว่าหากมีปัญหาอะไรขึ้นก็ให้มาพูดคุยตกลงกัน อย่าทำลายตัวเองด้วยการปิดถนน ซึ่งได้สั่งการไปแล้วว่า หากกระทำเช่นนั้นก็ให้มีการดำเนินคดีกับแกนนำ เนื่องจากหากเราต้องการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่อเนื่องก็จะต้องทำให้บ้านเมืองเรามีความสงบ สะอาด สันติ สะดวกและปลอดภัย
ขณะที่นายกนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง เรื่อง การจดทะเบียนรถยนต์สาธารณะและรถยนต์บริการจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติให้สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต นัดประชุมผู้ประกอบการ ตัวแทนรถโดยสารสาธารณะ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถยนต์สี่ล้อเล็กและรถบริการธุรกิจ (ป้ายเขียว) เพื่อระดมความคิดเห็น แนวทางในการแก้ปัญหารถโดยสารสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต เช่น มาตรฐานการให้บริการค่าโดยสาร ความปลอดภัย เป็นต้น
ประกอบกับขณะนี้ใกล้จะถึงฤดูกาลท่องเที่ยวอีกครั้ง รวมทั้งมีผู้ประกอบการได้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ และขอเพิ่มจำนวนรถสี่ล้อเล็กอีกประมาณ 300 คัน แต่ทางคณะกรรมการฯ ให้ชะลอการอนุญาตออกไปก่อน เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความจำเป็น
นายกนก กล่าวด้วยว่า การเพิ่มและลดจำนวนรถโดยสารสาธารณะของจังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้นโยบายว่า เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวมีความจำเป็นต้องมีรถบริการสาธารณะแต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีการศึกษาแผนการการให้บริการรถสาธารณะทั้งระบบ
จึงได้มีการเสนอโครงการของบประมาณไปยังกรมการขนส่งทางบก จำนวน 5 แสนบาท จากกองทุนความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน เพื่อทำการศึกษาความต้องการ ประเภท รูปแบบ จำนวนและอัตราค่าบริการใช้รถสาธารณะของจังหวัดภูเก็ตในรอบ 1 ปี รวมทั้งจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการอนุญาตเพิ่ม หรือลดจำนวนรถบริการสาธารณะต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันรถยนต์บริการสาธารณะในจังหวัดภูเก็ตแบ่งเป็น กลุ่มรถสี่ล้อเล็กที่จดทะเบียนตามกฎหมายขนส่งทางบก ป้ายทะเบียน 30 ขึ้นรถด้านหลัง มีจำนวน 600 คัน รถสี่ล้อเล็กจดทะเบียนตามกฎหมายรถยนต์ ขึ้นรถด้านข้าง จำนวนประมาณ 1,112 คัน นอกจากนี้ยังมีรถบริการสาธารณะซึ่งให้บริการระหว่างสนามบิน –โรงแรมที่พักต่างๆ จำนวนประมาณ 400-500 คัน และแท็กซี่มิเตอร์ จำนวนประมาณ 50 คัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น