04 ตุลาคม 2552

พรบ.ความมั่นคง นักสิทธิมนุษยชน/องค์กรสิทธิฯ...ว่าไง..??

โดย คุณสมสุริยะ ทองสุกใส
4 ตุลาคม 2552

ในที่สุด รัฐบาลก็เตรียมประกาศ พรบ.ความมั่นคงแห่งชาติ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 เขตพื้นที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม นี้

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงต้องเคารพสิทธิการชุมนุมของประชาชน อย่างสันติวิธีปราศจากอาวุธ และก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับอัปยศ 2550 ด้วย

ไฉน รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มักอ้างว่า ประชาชน สนับสนุน มิใช่อำมาตย์ กองทัพ พวกคลั่งชาติ หนุนหลัง จึงกล้าประกาศออกกฎหมายริดรอนสิทธิเสรีภาพ สังคมประชาธิปไตย

รัฐบาลก็อ้างว่า คนเสื้อแดงจะไปทำให้การประชุมนี้ ต้องเสียบรรยากาศ กลัวคนเสื้อแดงจะล้มการประชุม กระนั้นหรือ ?

ถามว่า ประชาชนทุกกลุ่ม มิเพียงคนเสื้อแดง มีสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติวิธีหรือไม่ ?

ตอบว่า ในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลไม่มีสิทธิใช้อำนาจหยุดยั้งการชุมนุม มีแต่รัฐบาลอำนาจนิยมเผด็จการเท่านั้น ที่กระทำอย่างนี้ แม้ว่าปากจะบอกว่า รักประชาธิปไตยก็ตาม

นักสื่อสารมวลชน นักวิชาการ ปัญญาชนทั้งหลาย ผู้อ้างว่า รักประชาธิปไตย จะเมินเฉยให้รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบธรรม กระนั้นหรือ ?

หรือพวกท่านก็รักประชาธิปไตยเพียงลมปากเท่านั้นเอง แล้วองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหลายละว่าไงบ้าง ?

การริดรอนสิทธิชุมนุมของประชาชน เป็นการทำลายสิทธิพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย และเป็นการบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน พวกท่านทราบกันดี ?

คุณเมธา มาสขาว ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับตนเองและองค์กรของท่าน (มีคุณสมชาย หอมละออ เป็นผู้อำนวยการใหญ่) ว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นรัฐประหารเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ครานี้ท่านคงไม่ออกมาแถลงข่าวทางทีวีคัดค้าน พรบ.ความมั่นคงเลยหรือ?

ในฐานะที่ท่านสังกัดองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล คุณไพโรจน์ พลเพชร ผู้อำนวยการสมาคมสิทธิเสรีภาพ ผู้ปีนป่ายกำแพงรัฐสภา ร่วมกับ คุณจอน อึ้งภากรณ์ คัดค้าน พรบ.ฉบับนี้

ตอนนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์นำมาใช้จริงๆ แล้ว จะว่าไงกัน ?

คงไม่ช้านักหรอก ผู้นำองค์กรสิทธิ์มนุษยชนเหล่านี้ คงออกมาให้ความเห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ ริดรอนสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไม่ควรนำ พรบ.มาใช้ เพราะพวกเขา ไม่ออกมา ไม่ได้ ยังไงก็ต้องคัดค้าน

ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน พวกเขาต้องดูดีอยู่ตลอดกาล ไม่อย่างนั้น คนในแวดวงโดยเฉพาะแวดวงสากล จะสงสัยถึงบทบาทนักสิทธิมนุษยชนไทยกัน

แต่พวกเขาจะแสดงบทบาทพอเป็นน้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้พุ่งทวนธนูสกัดกั้นกฎหมายนี้อย่างจริงจังมากนัก

ทำไม ? คิดเช่นนั้น

ปกติ พวกเขาเป็นนักเคลื่อนไหว มีทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีความเจนจัดในการลงสนามรบ มีประสบการณ์กองโต ในการคัดค้านนโยบาย กฎหมาย ต่างๆ ที่ไม่ชอบธรรม

พวกเขาจะวางจังหวะก้าว การเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน รัดกุม เพื่อหยุดยั้งความไม่ชอบธรรมต่างๆ อย่างเป็นกระบวน อย่างเป็นขบวน มีข่าวต่อสาธารณต่อเนื่อง

พวกเขาจะประสานสื่อ หาช่องทางออกสนทนารายการสื่อ จัดการสัมมนา หาแนวร่วม รวมกลุ่มกันบุกไปทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรี เผลอๆ ปีนทำเนียบด้วย

เพียงแต่งานนี้ ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่พวกเขาจงเกลียดจงชัง

พวกเขาจึงไร้แผนการที่ช่ำชอง พวกเขาจึงมีสองมาตรฐาน

งานนี้ พวกเขาคงเพียงออกม าไม่ให้องค์กรสิทธิมนุษยชนดูน่าเกลียดเท่านั้น คอยดูก็แล้วกัน



เพราะพวกเขา กลัวเข้าทางเสื้อแดง
เพราะพวกเขา กลัวเข้าทางทักษิณ
เพระพวกเขา เลือกทางรัฐบาลอภิสิทธิ์
เพราะพวกเขา เลือกทางอำมาตยาธิปไตย
เพราะพวกเขา ไม่ได้ยึดมั่นประชาธิปไตย


มันเป็นเช่นนั้นเอง ตถตา

ท่านนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายว่าไง ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น