"เลือดแดง" นองเต็มพื้น
ทั้งบริเวณประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ในห้วงที่ม็อบเสื้อแดงจัดชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล กดดันให้นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา
แต่ก็ถือว่า โชคดีที่ยังเป็นแค่เลือดที่ผู้ชุมนุมเจาะกันเอง แล้วเอาไปเทสาดเป็นเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้
เป็นแค่กิจกรรม พิธีกรรมในการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องเท่านั้น
ไม่ใช่การนองเลือดจากการปะทะของคนไทยด้วยกัน
สถานการณ์มาถึงวันนี้ การชุมนุมของม็อบเสื้อแดงภายใต้ การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยังดำเนินต่อไป
แกนนำม็อบประกาศชัดเจนจะปักหลักต่อสู้ชุมนุมยืดเยื้อ
มีการสลับสับเปลี่ยนกำลัง คนเก่ากลับไปคนใหม่เข้ามา รอกองหนุนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดเข้ามาเสริมทัพ
พร้อมจัดรถขนม็อบเสื้อแดงเคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่างๆทั่ว กทม. เพื่อเชิญชวนชาวกรุงเทพฯออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล
ขยายฐานมวลชน ตามยุทธศาสตร์สงครามชนชั้น
อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมในการชุมนุมของม็อบเสื้อแดงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังถือว่าอยู่ในกรอบการชุมนุมโดยสงบตามระบอบประชาธิปไตย
ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นปะทะจลาจล
แม้การเคลื่อนไหวในบางห้วงบางจังหวะอาจมีการปราศรัย หรือการกระทำที่เกินเลยไปบ้าง ก็เป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะใช้สิทธิทางกฎหมายฟ้องร้องกันไปตามกระบวนการยุติธรรม
สำหรับทางฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) อยู่ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ย่านบางเขน
ทั้งนายกฯอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. นั่งบัญชาการวางแผนรับมือม็อบด้วยตัวเอง
สั่งระดมกำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน กว่าครึ่งแสน คอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ กทม.อย่างเต็มที่
ตั้งด่านตรวจอาวุธ วางกำลังรักษาสถานที่ราชการ บ้านพักบุคคลสำคัญ รวมทั้งดูแลป้องกันเหตุตามจุดเสี่ยงต่างๆ
ที่สำคัญ ได้เน้นย้ำกำลังพลที่ต้องเผชิญกับกลุ่มม็อบให้ อดทน อดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง และให้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการควบคุมฝูงชนตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะในห้วงที่ม็อบยกขบวนหลายหมื่นคนไปประท้วงที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ การเคลื่อนม็อบไปเทเลือดที่ทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านนายกฯอภิสิทธิ์
ทำให้สถานการณ์ผ่านพ้นไปได้ โดยไม่มีเหตุการณ์กระทบ กระทั่งรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ
ส่วนที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ปฏิบัติการป่วน ยิงระเบิดเอ็น 79 ใส่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ริมถนนวิภาวดีรังสิต แต่ก็ยังไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายรุนแรง
รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงยังสามารถควบคุมความสงบไว้ได้ มาตรการป้องกันระวังเหตุทำได้เข้มงวดรัดกุมพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีม็อบเสื้อแดงยกพลเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ และฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อย
แม้การเคลื่อนไหวของม็อบ และการป้องกันระวังเหตุของรัฐบาล อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในห้วงสถานการณ์ที่การเคลื่อนไหวชุมนุมของม็อบยังดำเนินอยู่ ย่อมมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประชาชนคนกรุงเทพฯจำนวนมาก ยังหวาดหวั่นไม่ไว้วางใจว่าสถานการณ์จะปลอดภัยเหมือนห้วงปกติ
โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัย หรือทำธุรกิจค้าขายในละแวกพื้นที่ชุมนุม บางคนก็ถือโอกาสปิดร้านชั่วคราว พาครอบครัวหลบไปเที่ยวต่างจังหวัด บ้างก็ต้องไปขอพักอาศัยอยู่ตามบ้านญาติ
ประชาชนทั่วไปไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน เพราะกลัวรถติด กลัวโดนลูกหลง นักเรียนที่จะสมัครสอบเข้าชั้นมัธยมหลายโรงเรียนต้องเลื่อนการสอบออกไป
ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ และการท่องเที่ยว แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่มีม็อบใหญ่บุกกรุง กระเทือนไปถึงภาคเศรษฐกิจทั้งวงจร
ในส่วนผลกระทบต่อภาครัฐ การประชุม ครม.ที่เป็นหัวใจหลักในการบริหารราชการแผ่น ต้องงดประชุม เพราะกลัวโดนม็อบปิดล้อม
ขณะที่การประชุมสภาฯก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้ตามปกติ เพราะนายกฯและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าร่วม
นัยว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
ไม่อยากให้เกิดเหตุซ้ำรอยสถานการณ์สลายการชุมนุมม็อบพันธมิตรฯล้อมสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ขณะเดียวกัน ข้าราชการหลายกระทรวงที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม ต้องย้ายที่ทำงานชั่วคราว ไปที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ
สิ่งเหล่านี้ คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
และยังไม่มีใครรู้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่
เพราะทางฝ่ายรัฐบาล โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ออกมาชี้ว่ามีน้ำเลี้ยงก๊อกสองไหลไปถึงแกนนำม็อบ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย
เพื่อระดมคนจากต่างจังหวัดเข้ามาเสริมกำลังม็อบเป็นระลอก
ในขณะที่แกนนำม็อบเสื้อแดงก็ออกมาประกาศชัดเจนจะชุมนุมยืดเยื้อ โดยยึดแนวทางสันติวิธี อหิงสา
จากสถานการณ์ตรงนี้ ทำให้หลายฝ่ายในภาคสังคมพยายามหาทางออกและเสนอแนวทางต่างๆ
เพื่อให้เหตุการณ์ยุติลงด้วยดี และให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าไปได้
เริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
เห็นพ้องกันที่จะใช้กระบวนการทางสภาแก้ไขปัญหาวิกฤติบ้านเมือง ด้วยการเปิดประชุมร่วมรัฐสภา อภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ
เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว.เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาม็อบเสื้อแดง เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณา
ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ที่ได้ไปประสานหารือกับแกนนำม็อบเสื้อแดง และนายกฯอภิสิทธิ์ เพื่อเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยึดแนวทางสันติวิธี
ได้เสนอให้ฝ่ายรัฐบาลตั้งโต๊ะเจรจากับแกนนำม็อบเสื้อแดง
เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤติการเมืองร่วมกัน และทำให้ บ้านเมืองสงบ
ทั้งนี้ในเบื้องต้นนายอภิสิทธิ์ตอบรับข้อเสนอในการเปิดโต๊ะเจรจา โดยเห็นว่า
สามารถพูดคุยกันได้ในข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวม เช่น การยุบสภาที่ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ยืนยันการพูดคุยจะเป็นประโยชน์ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ถึงเหตุผลของแต่ละฝ่าย และข้อดี ข้อเสียของการยุบสภา โดยการพูดคุยต้องอยู่ภายใต้การเคลื่อนไหวที่สงบ
ขณะที่แกนนำม็อบเสื้อแดงก็เห็นด้วยกับแนวทางการเปิดโต๊ะเจรจา
แต่ต้องเป็นการเจรจากับนายกฯโดยตรง และนายกฯอภิสิทธิ์จะต้องเปิดใจ ยกเลิกเงื่อนไขที่ตั้งไว้ทั้งหมด
จากปรากฏการณ์ตรงนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้ง 2 ฝ่าย ให้ความสำคัญกับการพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออก
เพราะโดยสัจธรรมปัญหาความขัดแย้งในสังคมไม่ว่าเรื่องใดๆก็ตาม ถ้าไม่หันหน้ามาพูดคุยเจรจากัน
คงไม่สามารถหาข้อยุติที่จะทำให้ปัญหาจบลงได้
จุดร่วมอันนี้ จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่จะทำให้ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองกลับคืนมา
เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" อยากให้การเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับแกนนำม็อบเสื้อแดง
เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะนายกฯอภิสิทธิ์ในฐานะผู้นำรัฐบาล ควรเป็นผู้ดำเนินการเปิดโต๊ะเจรจากับแกนนำม็อบเสื้อแดงทันที
แต่ละฝ่ายมีข้อเสนออย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร มีเงื่อนไขแค่ไหน ก็เอามาแบให้สังคมได้เห็นกันชัดๆ
เพราะข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ อาจเป็นทางออกให้ประเทศชาติกลับสู่ความสงบ
แต่อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งทาง การเมืองในเรื่องนี้ ก็เคยมีการพูดคุยทำความตกลงกันมาแล้ว
ถึงขั้นที่ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีมติร่วมกันตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม
โดยได้ข้อสรุปที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น
แต่ในที่สุด "นายใหญ่" ก็สั่งล้มโต๊ะ
บัญชาเกมให้ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ถอนตัว ไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
มาถึงครั้งนี้ ทีมของเราก็ได้แต่หวังว่า การตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำม็อบเสื้อแดง
เพื่อหาทางออกให้บ้านเมืองแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ
คงจะไม่ล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมา
เพราะถ้าการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาล้มเหลว เสี่ยงสูง "นองเลือด".
ที่มา : http://www.prachataiwebboard.com/webboard/id/30958
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น