17 เมษายน 2553

ภาวะ (ที่เกิน) ฉุกเฉิน

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ (เสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓) กรุงเทพมหานครและจังหวัด ใกล้เคียงอีกบางจังหวัด กำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉินตามกฎหมาย ในภาวะเช่นนี้ กฎหมาย ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เป็นพิเศษหลายประการ แต่แม้กระนั้น ก็ปรากฏว่ากลุ่ม นปช.เสื้อ แดงซึ่งชุมนุมยึดพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณแยกราชประสงค์ ไม่แยแส กับการประกาศใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉิน และกลับแสดงการท้าทายด้วยประการต่าง ๆ นอกจากจะประณามและปลุกระดมพวกตนบนเวทีต่อมาอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว ยังขยายพื้นที่ ที่ตนยึดไว้ออกไปอีก ในตอนบ่ายวันศุกร์ กลุ่ม นปช.เสื้อแดงได้บุกเข้าไปยึดสถานีไทยคม ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และในคืนวันเสาร์ เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามที่จะให้ กลุ่ม นปช.เสื้อแดง “คืนพื้นที่” ที่ยึดไว้ กลุ่มเสื้อแดงก็ใช้กำลังตอบโต้อย่างรุนแรง จนเกิด การปะทะกันขึ้นอย่างรุนแรง

การปะทะทำให้เราได้รู้เป็นครั้งแรกว่า กลุ่มเสื้อแดงมีทั้งอาวุธปืน และวัตถุระเบิด และได้ใช้ทั้งสองอย่างต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ทั้งทหารและ ประชาชนได้รับ บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตหลายคน

ตลอดเวลานี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี โฆษกของรัฐบาล และโฆษกของกองทัพบก ได้แถลง ยืนยันที่จะไม่ใช้ความรุนแรง และที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ใครจะนึกว่าอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ผมเห็นว่ากลุ่ม นปช.เสื้อแดง ได้ยกระดับการกระทำ ของตนเอง จากการชุมนุมโดย “สันติ” หรือโดยสงบปราศจากอาวุธ ขึ้นไปเป็นการใช้กำลัง แล้ว การกระทำของกลุ่ม นปช.เสื้อแดงเข้าข่ายเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน ราชอาณาจักร ตามความในมาตรา ๑๑๓ ของประมวลกฎหมายอาญา ที่บัญญัติว่า

“มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ….. (๒) ลัมล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้ อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้…..ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฎ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”

และที่ผู้นำกลุ่ม นปช.คนหนึ่งประกาศจะสถาปนา “รัฐไทยใหม่” ขึ้น ก็เป็นความผิด กฎหมายอาญามาตราเดียวกัน ข้อ (๓) ที่ระบุลักษณะความผิดไว้ว่า “แบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งราชอาณาจักร”

เฉพาะแต่การปลุกระดมที่กลุ่ม นปช.กำลังกระทำมาตั้งแต่เริ่มชุมนุมจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นความผิดกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้ ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำ ภายในความมุ่งหมาย แห่งรัฐธรรม นูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (๒) เพื่อ ให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ ขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (๓) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อจะให้รัฐบาลพิจารณาว่า หากกลุ่ม นปช.เสื้อแดงยกระดับ พฤติการณ์ของตน จนลุกลามกลายเป็นความผิดฐานกบฎแล้วเช่นนี้ การใช้อำนาจของ เจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยภาวะฉุกเฉินจะยังเพียงพออยู่หรือไม่ เจ้าหน้าที่โดย เฉพาะทหาร จะรู้สึกว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตน เป็นไปโดยจำกัด และทำให้ไม่สามารถ ตอบโต้ได้ ตามความจำเป็นของสถานการณ์หรือไม่

ถึงเวลาหรือยัง ที่รัฐบาลจะต้องยกระดับการใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่พลเรือน (โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นรองผู้กระทำความผิด) และสามารถใช้กฎหมาย บังคับได้โดยเด็ดขาด ในขอบเขตที่กว้างขวางออกไปอีก?

กฎอัยการศึกนั้น ไม่จำเป็นจะต้องประกาศใช้ทั้งประเทศ แต่อาจประกาศใช้เฉพาะ พื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่นั้น ๆ สามารถเผชิญเหตุร้ายได้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ถูกจำกัดโดยบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจน้อยกว่า

หลักกฎหมายอาญามีอยู่ว่ากรรมชี้เจตนา กรรมของ (พ.ต.ท.)ทักษิณ ชินวัตร สมาชิกพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช.เสื้อแดงนั้น บัดนี้แสดงชัดโดยไม่ต้องสงสัย แล้วว่าเป็นกบฎ ฉะนั้น การใช้กฎหมายของรัฐบาล ก็จะต้องเป็นไปโดยสอดคล้อง กับความฉกรรจ์ของความผิด

ถ้าหากยังใช้วิธีประนีประนอมผ่อนปรน และพยายามใช้กฎหมายที่ขัดกับ สถานการณ์ ในขณะที่อาชญากรกำลังฮึกเหิม สำคัญว่าตนกำลังเป็นฝ่ายชนะ เจ้าหน้าที่จะอยู่ ในฐานะลำบาก เสียขวัญ หรือเกิดโทสะแล้วตอบโต้ไปตามอำเภอใจ ความสูญเสียที่จะเกิด ขึ้นจะร้ายแรง กว้างขวาง และยังจะผิดกฎหมายด้วย

หวังว่ารัฐบาลจะรีบตัดสินใจ ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามร้ายแรงออกไปยิ่งกว่านี้.

โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น